7 เรื่องต้องรู้ของ โรคทางใจ ที่หลายคนมองข้าม

7 เรื่องต้องรู้ของ โรคทางใจ ที่หลายคนมองข้าม

โรคทางใจ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คร่าชีวิตคนไทยได้ไม่แพ้โรคอื่นๆ แถมยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งผู้ที่ป่วยโรคทางใจยังมีช่วงอายุที่น้อยลงด้วย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เราต้องตระหนักและให้ความสำคัญกันมากขึ้น รวมทั้งต้องทำความเข้าใจในตัวผู้ป่วยด้วย 

สำหรับใครที่ยังใหม่กับเรื่องของโรคทางใจ หรือไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่ควรทราบกันบ้าง ต่อไปนี้คือ 7 เรื่องที่เราอยากให้ทุกคน “ต้องรู้” เกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นกับจิตใจที่ยังมีหลายคนมองข้ามอยู่

1. ในทุก 8 คน จะมี 1 คนที่ต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต

ทราบหรือไม่ว่าในทุกๆ 8 คน จะต้องมีอย่างน้อย 1 คน ที่กำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งเรื่องนี้ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ทำการสำรวจมาแล้ว และในทุกการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น 100 ครั้งจะต้องมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่เกิดขึ้นจากการฆ่าตัวตาย และหากเฉลี่ยเป็นช่วงวัย 15-29 ปี ในทุกการเสียชีวิต 100 ครั้งจะมีถึง 8 ครั้งที่เป็นการฆ่าตัวตาย

2. ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี คนไทยป่วยด้วยโรคทางใจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า!

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่าในช่วงปี 2558-2564 ประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า คือจากเดิม 1.3 ล้านคน เป็น 2.3 ล้านคน และเพศชายคือเพศที่เสียชีวิตจากภาวะของโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตมากที่สุด โดยส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการติดสุราจนกลายเป็นปัญหาทางจิตเวชตามมา

3. ผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชมีเพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดของโรคโควิด-19

หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคทางใจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาขาดแคลนรายได้ และการตกงานที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้น โดยระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือน สิงหาคม 2565 มีผู้เข้ารับการปรึกษากับสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จากความคิดอยากฆ่าตัวตายมากถึง 1,554 ราย หรือเฉลี่ย 141 รายต่อเดือน

4. จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด

นายแพทย์ วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์และโฆษกของกรมสุขภาพจิตได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อมูลนี้ว่า ส่วนใหญ่พื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสานจะมีการออกไปทำงานไกลบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังจำนวนมาก และขาดการสื่อสารหรือทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของการเกิดโรคทางใจ

5. ผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่หายขาดส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางรักษา

รายงานจากสถิติของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์พบว่าในปี 2560 – 2562 ผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวนเพิ่มขึ้น และบางส่วนมาจากการกลับมารักษาซ้ำ โดยเหตุผลหลักมาจากการไม่ปฏิบัติตัวตามแผนการรักษา เช่น ขาดวินัยในการทานยาต่อเนื่อง, การใช้สารเสพติด หรือสารกระตุ้น และมีบางส่วนที่กลัวการทานยาเนื่องจากมีอาการแพ้ยา ตัวแข็ง ไม่สามารถทำงานได้

6. วัยรุ่นตอนต้น มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าวัยรุ่นตอนปลาย

วัยรุ่นตอนต้นอายุระหว่าง 11-14 ปี มีแนวโน้มว่าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 9.3 ราย ซึ่งสูงกว่าวัยรุ่นตอนปลายที่อยู่ในอายุระหว่าง 15-19 ปี ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายร้อยละ 5.9 ราย และการเจ็บป่วยด้วยโรคทางใจของวัยรุ่นตอนต้นนั้นนับเป็นวิกฤตของโรคซึมเศร้าในเด็ก เนื่องจากจะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคจิตเวชในวัยผู้ใหญ่

7. กรุงเทพ คือจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด

ผลสำรวจจากกรมสุขภาพจิตในปี 2566 พบว่า กรุงเทพมหานครคือจังหวัดที่มีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด ขณะที่ สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นั้นอยู่ในอันดับที่สอง และ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อยู่ในอันดับที่สาม

เรื่องน่ารู้ของ โรคทางใจ ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนเท่านั้นที่เราเชื่อว่าหลายคนยังไม่ทราบ หรือไม่เคยรู้มาก่อน นับว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ดังนั้นอย่าลืมสำรวจจิตใจของตัวเองดูบ้างว่ามีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร หรือควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดแล้วหรือยัง รวมทั้งการใส่ใจคนในครอบครัวอยู่เสมอ ก็เป็นการช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยด้วยโรคทางใจได้ในอีกวิธีหนึ่ง

ข้อมูลบางส่วนจาก
http://healthkpi.moph.go.th
https://hdcservice.moph.go.th
https://www.the101.world/improve-access-to-mental-health-care/